5/10/53

ความสำคัญของสารชีวภาพเพื่อการเกษตร

     สารชีวภาพเพื่อการเกษตรมีความสำคัญกับระบบเกษตรกรรมในยุคปัจจุบันนี้   เพื่อนำมาใช้ทดแทนสารเคมีทางการเกษตร     เป็นการทำการเกษตรกรรมทางเลือกอย่างหนึ่งที่ประยุกต์ใช้กลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ทางการเกษตรมาใช้  ทำให้สามารถผลิตอาหารที่ปลอดภัยกับผู้บริโภค และช่วยฟื้นฟู  บำรุง  รักษา  ระบบสิ่งแวดล้อม ให้คงอยู่ในสภาพที่สมดุลตลอดไป  ซึ่งสามารถสรุปความสำคัญได้ดังนี้
                1 ความสำคัญต่อระบบสิ่งแวดล้อม
                     1) ช่วยหมุนเวียนธาตุอาหารในดิน  สารชีวภาพทางการเกษตรเป็นการนำกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสูงและมีประโยชน์นำมาใช้ในการผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะการผลิตพืช ซึ่งจัดว่าพืชเป็นผู้ผลิตในระบบนิเวศที่สำคัญ ที่ต้องอาศัยดินเป็นที่เกาะยึด  เป็นแหล่งอาหาร  แหล่งน้ำ  และแหล่งอากาศ โดยเฉพาะธาตุอาหารพืชนั้น  ในสภาพธรรมชาติจะถูกปลดปล่อยออกมาจากดินในรูปของสารอนินทรีย์  และถูกปลดปล่อยออกมาจากชิ้นส่วนของพืช  สัตว์และจุลินทรีย์ที่ตาย ในรูปของสารอินทรีย์  ให้พืชดูดไปใช้    ซึ่งจุลินทรีย์ดินจัดว่าเป็นสิ่งมีชีวิตในดินที่มีบทบาทต่อการย่อยสลายสารอินทรีย์เหล่านั้น  ทำให้เกิดการหมุนเวียนธาตุอาหารในวัฏจักรคาร์บอน  วัฏจักรไนโตรเจน   วัฏจักรฟอสฟอรัส และวัฏจักรกำมะถัน    ที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้ธาตุอาหารพืชดังกล่าวออกมาเป็นประโยชน์กับพืช    ดังนั้นหากดินมีสารพิษตกค้างจากการใช้สารเคมีทางการเกษตรก็ย่อมทำให้จุลินทรีย์ดินที่มีประโยชน์ในวัฏจักรต่าง ๆ ลดจำนวนลงหรือไม่มี ก็ย่อมทำให้การหมุนเวียนธาตุอาหารในดินที่เป็นประโยชน์กับพืชหยุดชะงัก  พืชก็ย่อมไม่เจริญเติบโตตามวงจรชีวิต  จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีในการเพิ่มธาตุอาหารซึ่งหากใช้ติดต่อกันย่อมทำให้ดินเสื่อมโทรมในที่สุด
    2)  ทำให้ดินมีชีวิต  การใช้สารชีวภาพทางการเกษตรในดินที่มีคุณสมบัติทางชีวภาพ ที่ดี กล่าวคือดินที่มีสิ่งมีชีวิตในดินจำนวนมากทั้งชนิดและปริมาณ ก็ย่อมไม่มีผลกระทบกับสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นเพราะสารชีวภาพไม่มีผลตกค้างในสิ่งแวดล้อม  แต่ทำให้สิ่งมีชีวิตในดินเพิ่มจำนวนตามธรรมชาติได้มากขึ้น เพราะมีแหล่งอาหารที่สมบูรณ์  ส่วนการใช้สารชีวภาพทางการเกษตรในดินที่เสื่อมโทรมร่วมกับการใส่อินทรีย์วัตถุ   ก็ย่อมช่วยฟื้นฟูดินให้มีสิ่งมีชีวิตในดินเพิ่มจำนวนมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการช่วยหมุนเวียนธาตุอาหารพืชในที่สุด ทำให้ดินบริเวณนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ตามสภาพธรรมชาติ
   3) ช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการทำการเกษตร   การปลูกพืช   การเลี้ยงสัตว์ และการประมง ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นจากการเลี้ยงสัตว์    น้ำเน่าเสียจากการประมง  ดังนั้นหากนำสารชีวภาพทางการเกษตรที่มีคุณสมบัติในการช่วยลดกลิ่น และช่วยบำบัดน้ำเสีย  ก็ย่อมทำให้ลดผลกระทบจากสาเหตุดังกล่าวได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ปัญหาสารพิษตกค้างในดินและน้ำก็ลดน้อยลงเช่นเดียวกัน
                2 ความสำคัญต่อสภาพเศรษฐกิจ
    1) ลดต้นทุนในการผลิต   การใช้สารชีวภาพทางการเกษตร  สามารถใช้ทดแทนสารเคมีทางการเกษตรในระยะยาวได้เป็นอย่างดี  หากผู้ใช้เข้าใจหลักการผลิตและการใช้ที่ถูกต้อง   ทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อสารเคมีทางการเกษตรที่มีราคาแพงมาใช้  ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตที่ลดลง ลดความเสี่ยงต่อการขาดทุน จากราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอนได้เป็นอย่างดี
    2) สร้างอาชีพการผลิตสารชีวภาพเชิงธุรกิจ    ในสภาพปัจจุบันนี้การใช้สารชีวภาพทางการเกษตร  เป็นทางเลือกหนึ่งของการทำการเกษตรอินทรีย์  หรือเกษตรผสมผสาน หรือเกษตรทฤษฎีใหม่   ที่คำนึงถึงความปลอดภัยของผลผลิตเป็นสำคัญ  ทดแทนการทำการเกษตรสมัยใหม่ที่เน้นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ที่ใช้สารเคมีทางการเกษตรในกระบวนการผลิต ทำให้ผลผลิตอาจมีสารพิษตกค้าง  ดังนั้นผู้ผลิตสารชีวภาพทางการเกษตรจึงสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด  เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ ให้กับครัวเรือน หรือชุมชน อีกทางเลือกหนึ่ง
    3) เป็นพื้นฐานในการสร้างเศรษฐกิจแบบพอเพียง     พระราชดำรัสเกี่ยวกับแนวทางเศรษฐกิจแบบพอเพียงที่ดำริถึงการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและไม่ประมาท โดยคำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล  การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ความรอบคอบ และคุณธรรม ประกอบการวางแผน การตัดสินใจและการกระทำ   นั้น หากประชาชนชาวไทยนำมาประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพทางการเกษตร ก็ต้องพิจารณาแนวทางการผลิต  ที่ต้องผลิตแบบพึ่งพาตนเอง  ผลิตไว้ใช้ในครัวเรือน  หากมีเหลือก็แจกจ่ายหรือขาย   ส่วนการพิจารณาปัจจัยการผลิต ก็เช่นเดียวกัน  คือต้องเป็นปัจจัยที่พึ่งตนเอง  ดังนั้นการนำสารสารชีวภาพทางการเกษตรมาใช้จึงเป็นพื้นฐานสำคัญของการพึ่งตนเอง 
                3 ความสำคัญต่อสภาพทางสังคม
                    1) สร้างภูมิคุ้มกันสุขภาพอนามัยให้กับผู้ผลิตและผู้บริโภค    การใช้สารชีวภาพทางการเกษตรเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันสุขภาพอนามัยให้กับผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ เพราะสารชีวภาพทางการเกษตรไม่มีสารพิษ หรือเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุทำให้มนุษย์เจ็บป่วย  ดังนั้นผู้ผลิตจึงมีความปลอดภัยในการใช้  ส่วนผู้บริโภคก็ได้อาหารที่ปลอดภัยบริโภค   ทำให้ภาระในการดูแลผู้ป่วยลดน้อยลง
    2) สร้างความเข้มแข็งให้ครัวเรือนและชุมชน     การใช้สารชีวภาพทางการเกษตรในการเพาะปลูกพืชเลี้ยงสัตว์  และการประมง ย่อมต้องอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยเฉพาะการใช้สารชีวภาพเพื่อป้องกันศัตรูพืชและสัตว์    ที่ต้องใช้พืชสมุนไพรในท้องถิ่นมาใช้ในการผลิต  การหาแหล่งเรียนรู้ในชุมชนจึงเป็นสิ่งสำคัญ    ดังนั้นสังคมไทยจึงควรหันกลับมามองต้นทุนทางทรัพยากร  ทางสังคม และวัฒนธรรม ที่สั่งสมมาในชุมชนแต่ละชุมชน   เพื่อการผลิตแบบพึ่งตนเอง  สิ่งเหล่านี้หากมีกระบวนการขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วนก็ย่อมทำให้ครัวเรือนและชุมชนมีความเข้มแข็งมากขึ้น    สามารถลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอกได้

วัสดุ-อุปกรณ์

1.จุลินทรีย์ EM 1 ลิตร
                                   
2.กากน้ำตาล  1 ลิตร  
                                                   
3.เหล้าขาว  2 ขวด

4.น้ำส้มสายชู 5 % 1 ลิตร         
                     
5.น้ำสะอาด  1 ลิตร 
                                                  
6.ถังพลาสติก

วิธีการทำ

1. นำกากน้ำตาลมาผสมคนให้เข้ากันใส่เหล้า  น้ำส้มสายชู แล้วนำสารอีเอ็มมาผสมให้เข้ากัน


2. ปิดฝาภาชนะให้สนิท หมักทิ้งไว้ 10 - 15 วัน

3. คนสารกำจัดแมลงทุกวันเพื่อไม่ให้เกิดการตกตะกอนเปิดฝาระบายก๊าซหลังจากคน เมื่อครบกำหนดเวลา จึงนำไปฉีดพ่นเพื่อกำจัดแมลง และเพื่อป้องโรคพืชบางชนิด เช่น ใบหงิก ใบด่า

วิธีใช้

-ใช้ 1 - 5 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำสะอาด  5 - 10 ลิตร 

- ฉีดพ่นให้ชุ่มและทั่วถึงด้านนอกและในพุ่ม

- ใช้กับพืชผักทุก 3 วัน สลับกับพ่นปุ๋ยน้ำ


- ใช้กับพืชไร่ พืชสวน ทุก 3 - 7 วัน สลับกับการพ่นปุ๋ยน้ำ


- ผสมกับกากน้ำตาล หรือนมสด  ฯลฯ  เป็นสารจับใบ

ประโยชน์ของปุ๋ยชีวภาพ (น้ำหมักชีวภาพ)

ด้านการเกษตร
1. ช่วยปรับสภาพความเป็นกรด - ด่าง ในดินและน้ำ
2. ช่วยปรับสภาพโครงสร้างของดินให้ร่วนซุย อุ้มน้ำและอากาศได้ดียิ่งขึ้น
3. ช่วยย่อยสลายอินทรีย์วัตถุในดินให้เป็นธาตุอาหารแก่พืช พืชสามารถดูดซึมไปใช้ได้เลย โดยไม่ต้องใช้พลังงานมากเหมือนการใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์
4. ช่วยเร่งการเจริญเติบโตของพืชให้สมบูรณ์ แข็งแรงตามธรรมชาติ ต้านทานโรคและแมลง
5. ช่วยสร้างฮอร์โมนพืช ทำให้ผลผลิตสูง และคุณภาพของผลผลิตดีขึ้น
6. ช่วยให้ผลผลิตคงทน เก็บรักษาไว้ได้นาน
ด้านปศุสัตว์
1. ช่วยกำจัดกลิ่นเหม็นจากฟาร์มสัตว์ ไก่ สุกร ได้ภายใน 24 ชม.
2. ช่วยกำจัดน้ำเสียจากฟาร์มได้ภายใน 1 - 2 สัปดาห์
3. ช่วยป้องกันโรคอหิวาห์และโรคระบาดต่างๆ ในสัตว์แทนยาปฏิชีวนะ และอื่นๆได้
4. ช่วยกำจัดแมลงวัน ด้วยการตัดวงจรชีวิตของหนอนแมลงวัน ไม่ให้เข้าดักแด้เกิดเป็นตัวแมลงวัน
5. ช่วยเสริมสุขภาพสัตว์เลี้ยง ทำให้สัตว์แข็งแรง มีความต้านทานโรค ให้ผลผลิตสูง และอัตราการรอดสูง
ด้านการประมง
1. ช่วยควบคุมคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำได้
2. ช่วยแก้ปัญหาโรคพยาธิในน้ำ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ
3. ช่วยรักษาโรคแผลต่างๆในปลา กบ จระเข้ ฯลฯ ได้
4. ช่วยลดปริมาณขี้เลนในบ่อ ช่วยให้เลนไม่เน่าเหม็น สามารถนำไปผสมเป็นปุ๋ยหมัก ใช้กับพืชต่างๆ
ได้ดี
ด้านสิ่งแวดล้อม
1. ช่วยบำบัดน้ำเสียจากการเกษตร ปศุสัตว์ การประมง โรงงานอุตสาหกรรม ชุมชน และสถาน-ประกอบการทั่วไป
2. ช่วยกำจัดกลิ่นเหม็นจากกองขยะ การเลี้ยงสัตว์ โรงงานอุตสาหกรรม และชุมชนต่างๆ
3. ปรับสภาพของเสีย เช่น เศษอาหารจากครัวเรือนให้เป็นประโยชน์ต่อการเลี้ยงสัตว์ และการเพาะ-ปลูกพืช
4. กำจัดขยะด้วยการย่อยสลายให้มีจำนวนลดน้อยลง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
5. ช่วยปรับสภาพอากาศที่เสียให้สดชื่น และมีสภาพดีขึ้น